การเขียนเรียงความ
การเขียนเรียงความ
เรียงความ คือการใช้ศิลปะทางการเขียนร้อยแก้วแสดงความรู้สึกนึกคิด จินตนาการ
และความเข้าใจของผู้เขียนอย่างสละสลวย เรียงความจะต้องประกอบด้วยส่วนที่เป็นคำนำ
เนื้อเรื่อง และสรุป
เรียงความที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
มีเอกภาพ คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หมายความว่าไม่ให้เขียนนอกเรื่อง
มีสัมพันธภาพ คือ ความสัมพันธ์กัน หมายถึง ข้อความแต่ละข้อความหรือแต่ละย่อหน้า
จะต้องมีสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน
มีสารัตถภาพ คือ การเน้นสาระสำคัญของย่อหน้าแต่ละย่อหน้า และของเรื่องทั้งหมด
โดยใช้ประโยคสั้น ๆ สรุปกินความทั้งหมด
ขอเพิ่มเติมเป็นการส่วนตัวค่ะ
ก่อนเขียนเรียงความนั้นจะต้องตีโจทย์ให้แตกว่า ชื่อเรื่องที่เขาให้มานั้น หมายถึงอะไร
เกี่ยวโยงกับอะไร ข้อมูลที่จะเขียนลงไปนั้นต้องถูกต้องชัดเจน ดังนั้นผู้เขียนจะต้องรู้ชัดรู้จริง
การเขียนคำนำ
เป็นการเกริ่นเรื่อง ขอย้ำว่าแค่เกริ่นนะคะอย่าลึก ใช้คำโอบความหมายกว้างๆ เช่น
เรียงความเรื่องแม่ของฉัน ควรกล่าวถึงแม่โดยทั่วไปก่อน เขียนให้กินใจ น่าอ่าน น่าติดตาม
แต่ยังไม่ควรเล่าว่า " แม่ของฉัน "เป็นอย่างไร
เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องเป็นส่วนที่มีใจความสำคัญ ประเด็นสำคัญตามห้วข้อ ดังนั้นจะต้องเขียนให้ละเอียด
ครอบคลุม ชัดเจน เช่น เรื่องแม่ของฉัน ในย่อหน้าเนื้อเรื่องให้พรรณนาถึงพระคุณแม่
( เขียนในด้านบวก )
สรุป
กลับไปอ่านคำนำและเนื้อเรื่องและสรุปจบให้ไปในทิศทางเดียวกัน ขอแนะนำว่า ควรให้
ข้อแนะนำ หรือแนวคิดดีๆ แล้วลงท้ายด้วยประโยคที่น่าสนใจ
การเขียนเรียงความนั้นอาจจะขึ้นต้นย่อหน้าคำนำ หรือปิดท้ายในหัวข้อสรุป ด้วย กลอน
คติพจน์ วาทะ หรือคำขวัญ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้น่าติดตาม ( ถ้ายืมคำใครเขามาอย่าลืมอ้างอิง
นะคะ ) ภายในเรียงความควรประกอบด้วยโวหารหลายๆชนิด เพื่อให้ได้อรรถรสในการอ่าน ขั้นตอน
ในการเตรียมตัวเขียน นอกจากจะต้องเตรียมข้อมูลจัดทำโครงเรื่องแล้ว ควรเลือกใช้สำนวนโวหารให้
เหมาะกับเนื้อความที่ จะเขียน สำนวนโวหารในภาษาไทย แบ่งออกเป็น ๕ คือ
๑) บรรยายโวหาร
๒) พรรณนาโวหาร
๓) เทศนาโวหาร
๔) สาธกโวหาร
๕) อุปมาโวหาร
๑. บรรยายโวหาร คือ โวหารที่ใช้เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเหตุการณ์
การเขียนบรรยายโวหารจะมุ่งความชัดเจน เขียน ตรงไปตรงมา รวบรัด กล่าวถึงแต่สาระสำคัญ
ไม่จำเป็นต้องมีพลความ หรือความปลีกย่อยเสริม ในการเขียนทั่ว ๆ ไปมักใช้บรรยายโวหาร เพราะ
เหมาะในการติดต่อสื่อสารเนื่องจากสำนวนประเภทนี้มุ่งสาระเขียนอย่างสั้น ๆ ได้ความชัดเจน
๒. พรรณนาโวหาร มีจุดมุ่งหมายในการเขียนต่างจากบรรยายโวหาร คือมุ่งให้ความแจ่มแจ้ง
ละเอียดลออ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ซาบซึ้งเพลิดเพลินไปกับข้อความนั้นการเขียนพรรณาโวหารจึง
ยาวกว่าบรรยายโวหารมาก แต่มิใช่การเขียนอย่างเยิ่นเย้อ เพราะพรรณนา-โวหารต้องมุ่งให้ภาพ
และอารมณ์ ดังนั้น จึงมักใช้การเล่นคำ เล่นเสียง ใช้ภาพพจน์แม้เนื้อความที่เขียนจะน้อยแต่เต็มไป
สำนวนโวหารที่ไพเราะ อ่านได้รสชาติ
๓. เทศนาโวหาร หมายถึง โวหารที่มีจุดหมายแสดงความแจ่มแจ้งเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตาม
หรืออาจกล่าวได้ว่ามุ่งชักจูงให้ผู้อ่านคิดเห็นหรือคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เขียนเทศนาโวหาร
จึงยากกว่าโวหารที่กล่าว
๔.สาธกโวหาร คือ โวหารที่มุ่งให้ความชัดเจน โดยการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้แจ่มแจ้ง
หรือสนับสนุนความคิดเห็นที่เสนอให้หนักแน่น น่าเชื่อถือ สาธกโวหารเป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร
พรรณนาโวหาร
๕.อุปมาโวหาร หมายถึง โวหารเปรียบเทียบ โดยกตัวอย่าง สิ่งที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบ
เพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านความหมาย ด้านภาพ และเกิดอารมณ์ ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่า
อุปมาโวหาร คือ ภาพพจน์ประเภทอุปมานั่นเอง อุปมาโวหารใช้เป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร
พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เพื่อให้ชัดเจนน่าอ่าน โดยอาจเปรียบเทียบอย่างสั้น ๆ หรือ
เปรียบเทียบอย่างละเอียดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปมา โวหารนั้นจะนำไปเสริมโวหารประเภทใด
การเขียนเรียงความที่ดีนั้นควรตีกรอบความคิดของผู้เขียนเอาไว้อย่างชัดเจน เพราะจะทำให้
งานเขียนไม่วกวน จนผู้อ่านเกิดความสับสนทางความคิด และที่สำคัญเรียงความจะต้องใช้ภาษา
อย่างเป็นทางการ อย่าใช้ภาษาพูดเป็นอันขาดเพราะจะทำให้งานเขียนขาดความน่าเชื่อถือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น